ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

หมวกชาวนา

ศิลปะและวัฒนธรรมผสมระหว่างคนไทยพื้นเมืองและจีนอพยพ ใช้ประโยชน์เพื่อการทำนา ขอบหมวกมีความกว้างกันได้ทั้งแดดและฝน
หมวกชาวนา

หมวกชาวนาเป็นอุปกรณ์ป้องกันความร้อน หายไปจากเกาะภูเก็ตแล้วประมาณ 70 ปี หลังจากมีการสืบค้นใหม่พบว่าเป็นศิลปะและวัฒนธรรมผสมระหว่างคนไทยพื้นเมืองและจีนอพยพ ลักษณะหมวกออกแบบมาเป็น 6 เหลี่ยม การจักสานนั้นจะต้องไม่มีรอยต่อ เป็นการแสดงถึงความเรียบง่ายในยุคนั้น

ถิ่นกำเนิดของหมวกชาวนา เกิดที่บ้านสระโค (จากคำบอกเล่าที่มีชื่อเป็นบ้านสระโค เพราะสมัยก่อนมีสระขนาดใหญ่ ซึ่งมีวัวจำนวนมากชอบไปกินน้ำ) ปัจจุบันคนทั่วไปเรียกกันว่า “บ้านสาคู” ตั้งอยู่ที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

ใช้ประโยชน์ของหมวกเพื่อการทำนา ขอบหมวกมีความกว้างกันได้ทั้งแดดและฝน วัสดุทำจาก เตยนา ซึ่งได้จากพื้นที่บ้านสาคู
หมวกชาวนากลายเป็นของที่หาได้ยาก แต่ยังสามารถหาดูรวมถึงรับฟังเรื่องเล่า ณ ศูนย์การเรียนรู้ฯ

กระสอบช่อ

กระสอบช่อ เอกลักษณ์หนึ่งเดียวของโลกเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต สิ่งของที่เลือนหายไปตามกาลเวลา
ช่อกระบอก
ช่อธรรมดา
ช่อคดกริช
ช่อลูกแก้ว

จากคำบอกเล่า "กระสอบช่อ" หายไปเกือบ 100 ปี คนในสมัยก่อนจะนำกระสอบช่อพาดบ่าไปเพื่อนำไปทำบุญที่วัด อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ในช่วงวันสารทเดือนสิบ หนึ่งกระสอบช่อจะมีช่อกระสอบเล็กๆ ประมาณ 6 ใบ ภายในกระสอบช่อจะใส่หอม กระเทียม ปลาฉิ้งฉาง น้ำตาล ข้าวสาร เกลือ แล้วก็ยังใช้เชือกด้ายดิบมาเย็บปิดตรงปลายช่อ คนภูเก็ตยุคนั้นจะใช้กระสอบช่อ 4 ครั้งต่อปี คือ ขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือน 10

          นอกจากนี้ กระสอบช่อยังเป็นเหมือนสิ่งที่บ่งบอกถึงฐานะของคนในสมัยก่อน โดยถูกออกแบบมาให้มี 4 ลักษณะ

ช่อกระบอก สำหรับเด็ก

ช่อธรรมดา สำหรับบุคลทั่วไปที่เป็นชนชั้นกลาง

ช่อคดกริช สำหรับข้าราชการลำดับชั้นรองๆ

ช่อลูกแก้ว สำหรับคหบดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

         กระสอบช่อถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่วัดบ้านดอน เพื่อนำไปถวายท่านหลวงพ่อเจ้าฟ้า หลังจากนั้นก็เป็นประเพณีที่ใช้แพร่หลายในเกาะภูเก็ตตลอดมา จากนั้นการใช้กระสอบช่อในงานบุญสารทเดือนสิบค่อยๆ ทยอยเลือนหายไปตามกาลเวลา

         ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้บ้านกู้กู รื้อฟื้อขึ้นกระสอบช่อขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมาเพื่อสร้างให้เป็นเป็นอัตลักษณ์ โดยทรงเดิมของกระสอบช่อจะมีขนาดที่ใหญ่มาก แต่ทางศูนย์ฯ ได้ทำการประยุกต์ให้เล็กลงเพื่อใช้เป็นของประดับบ้านสำหรับใส่หลอดตะเกียบได้ นับเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาเดิมประยุกต์ให้เข้ากับการใช้งานในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ชะภูเก็ต

ด้วยอัตลักษณ์ของชะภูเก็ต ขอบตะกร้าใช้ไม้ไผ่ 9 เส้น มีความแข็งแรงคงทนเมื่อใช้งาน หูหิ้วทำจากไม้ไผ่ 3 เส้น รับน้ำหนักสิ่งของในตะกร้าได้เป็นอย่างดี

ชะภูเก็ต หรือ ตะกร้าภูเก็ต เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาช้านาน ทำจากไม้ไผ่ที่นำมาเป็นตอกเส้นบางๆ ความพิเศษของชะภูเก็ตมีรูปแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชนมายาวนาน

จากเรื่องเล่าที่สืบค้นย้อนหลังไป 60 – 70 ปี ที่มาของรูปลักษณ์ของชะภูเก็ตจะมีส่วนที่แตกต่างตะกร้าของที่อื่น ส่วนแรกคือ “ขอบตะกร้า” ใช้ไม้ไผ่ 9 เส้นมาร้อยด้วยกัน หมายถึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องชุมชนหรือหมู่บ้านของตนเองอย่างที่ได้กล่าวไป ส่วนที่สองคือ “หูหิ้ว” ใช้ไม้ไผ่ 3 เส้น หมายถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งก็คือ 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ แต่ก็มีอีกความเชื่อหนึ่งก็คือให้นึกถึง

ศีล คือการใช้ชีวิตแบบปกติ

สมาธิ คือการรู้จักตัวเอง ณ ปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่

ปัญญา คือการเรียนรู้

การสานชะภูเก็ต เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ใช้สอนคนในสมัยก่อน การจะทำอะไรจะต้องลงมือทำอย่างจริงจัง แล้วก็สามารถถ่ายทอดไปสู่ผู้อื่นได้

ประโยชน์ของชะภูเก็ต สำหรับคนยุคก่อน ใช้ใส่สิ่งของเป็นอุปกรณ์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน
ชะ หรือตะกร้า กลับมาเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอีกครั้ง ด้วยความสวยงามของลวดลาย นอกจากการใช้งาน ยังสามารถกลายเป็นเครื่องประดับบ้านเพื่อความสวยงาม